มีบทความเกี่ยวกับโอเวอร์เลย์ออกมาหลายบทความ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และวิเคราะห์จุดเด่นบางอย่างซึ่งเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของโอเวอร์เลย์ ในขณะที่ตัวโอเวอร์เลย์นั้นสามารถทำอะไรเจ๋งๆ ได้อีกหลายอย่าง
ผมจึงอยากเขียนถึงรูปแบบการใช้งานโอเวอร์เลย์ในมุมมองของเทรดเดอร์ที่เน้นการซื้อขาย โดยเขียนในแง่ของ สภาพคล่อง ช่วงห่างของราคาซื้อ-ขาย (spread) และการใช้เงินลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเปรียบเทียบกับการเทรดแบบดั้งเดิม
โอเวอร์เลย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับการซื้อขายที่ไม่สามารถทำได้ในแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญในปัจจุบัน แต่กลับทำได้ง่ายๆ ในโอเวอร์เลย์ นั่นคือการซื้อขายที่อิงกับราคา NFTs ยกตัวอย่าง CryptoPunks ที่ซื้อขายได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม NFTs อย่าง OpenSea ซึ่งมีบางคนคิดว่าราคา CryptoPunks นั้นแพงเกินจริงไปมาก เลยอยากจะ short (ยืม NFTs มาก่อน พอราคาลงก็ซื้อ NFTs ไปคืนทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง) แต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีตลาดรองรับ
ซึ่งโอเวอร์เลย์สามารถเข้ามาช่วยตรงนี้โดยดึงราคาฟลอร์ของ CryptoPunks จาก OpenSea มาให้เรา short ทีนี้เพื่อให้เห็นภาพ ผมจะสมมุติว่าราคาฟลอร์เท่ากับ 100 ETH แล้วเราก็ใช้ OVL 100 เหรียญมาวางเพื่อเปิดสัญญา short ในคู่ราคา PUNK/ETH ทีนี้เมื่อเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ราคาฟลอร์ลงเหลือ 90 ETH เราก็จะได้กำไร 10% ถ้าเราปิดสัญญาเลยก็จะได้ OVL มา 10 เหรียญ (10% x 100 OVL) แต่กลับกัน ถ้าราคาฟลอร์ขึ้นเป็น 110 ETH เราก็จะขาดทุน 10% ถ้าเราปิดสัญญาเลยก็จะต้องเสีย OVL ไป 10 เหรียญ (10% x 100 OVL)
จะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญในปัจจุบันไม่สามารถทำแบบนี้ได้ แต่โอเวอร์เลย์ทำได้ และหลากหลายรูปแบบเท่าที่เราจะคิดออก ทำให้ข้อมูลที่สตรีมอยู่ในเครือข่ายกลายเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ซื้อขายได้ ช่วยเพิ่มคุณค่าของข้อมูล และนี่แหละคือสุดยอดจุดเด่นของโอเวอร์เลย์
ถึงตรงนี้เราใช้วิธีการจับคู่ราคา ETH กับข้อมูลต่างๆ สำหรับการซื้อขายทั้งบนโอเวอร์เลย์และแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญอื่นๆ (ทั้ง CEXs และ DEXs)
ไม่ว่าจะซื้อขายบน CEXs หรือ DEXs เราก็ต้องเจอกับช่วงห่างของราคา ที่ทำให้เราไม่สามารถซื้อขายในราคาที่เราต้องการได้แบบแม่นยำ และนี่แหละที่ทำให้แพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญในปัจจุบันจำเป็นต้องมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อที่ระบบจะได้จับคู่จนเกิดการทำธุรกรรม ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดช่วงห่างของราคา และเกิดการอาร์บิทราจ (ทำกำไรจากการที่ราคาของสิ่งเดียวกันมีราคาต่างกันเมื่ออยู่คนละตลาด) ซึ่งทำให้ผู้ใช้ทั่วไปเสียประโยชน์
โอเวอร์เลย์เข้ามาเปลี่ยนตรงนี้โดยทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อขายได้โดยไม่ต้องหาคนมาจับคู่ทำธุรกรรม และได้ราคาตามที่ต้องการซื้อขายแบบแม่นยำ ไม่ต้องเจอเหตุการณ์ที่คุณจะซื้อ ETH ในราคา $3,000 แต่สุดท้ายคุณต้องซื้อในราคา $3,001 เพราะบนโอเวอร์เลย์ถ้าคุณเปิดสัญญาตอนราคา ETH/USD = $3,000 คุณก็จะได้ราคาอ้างอิงที่ $3,000 เลย
ช่วงห่างของราคาบนแพลตฟอร์ม dYdX
ที่ทำแบบนี้ได้เพราะราคาของเหรียญ OVL ที่เรานำมาเปิดสัญญาไม่มีผลต่อราคาอ้างอิงของข้อมูลที่นำมาซื้อขาย ซึ่งจุดเด่นนี้ของโอเวอร์เลย์ ทำให้เราสามารถสร้างคู่สัญญาเสมือนได้สำหรับทุกข้อมูลในเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องคอยหาผู้ใช้มาจับคู่ด้วย
ปัจจุบันการลงทุนใน DeFi นั้นมักจะต้องใช้มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่าการลงทุน ทำให้เกิดการใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ค้ำ 100 แต่ลงทุนได้เพียง 90 เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มขาดทุนเมื่อต้องปิดสัญญาที่ขาดทุน และเช่นเดียวกับการเปิดสัญญาทั้ง short และ long ยกตัวอย่างการเปิดสัญญา long บน dYdX ตามรูปด้านล่าง เป็นการเปิดสัญญาด้วยเงิน $10,000 ที่ leverage 2.04 เท่า ราคา ETH $2576.7 จะได้ ETH มา 7.749 ETH